วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อุทยานหลวงราชพฤกษ์




       อุทยานหลวงราชพฤกษ์  หรือชื่อเดิมว่า สวนเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษาในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 และทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ศูนย์กลางการเรียนรู้พืชสวนโลก มีการจัดแสดงพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด การจัดแสดงนิทรรศการด้านการเกษตรและอื่น ๆ เพื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อการศึกษางานวิจัย และเป็นแหล่งพบปะกันในกลุ่มเกษตรกร ภายในพื้นที่มีการจัดภูมิสถาปัตย์อย่างสวยงาม

สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่เปิดให้เข้าชม ได้แก่

     - ต้นสนดึกดำบรรพ์อายุกว่า 250 ล้านปี บริเวณประตูทางเข้า
     - หอคำหลวง
     - สวนองค์กรเฉลิมพระเกียรติ เป็นส่วนที่ทางองค์กรต่าง ๆ ได้มาจัดแสดงภายใต้แนวคิดการจัดสวนตามทฤษฎีการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
     - สวนนานาชาติ พื้นที่การจัดสวนจากประเทศต่างๆ 33 ประเทศ
     - พื้นที่ชมภายในอาคาร ได้แก่ เรือนร่มไท้ โดมไม้เขตร้อนชื้น อาคารพืชทะเลทราย อาคารพืชไร้ดิน อาคารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
     - พื้นที่ชมงานภายนอกอาคาร ได้แก่ ไม้ชุ่มน้ำ สวนบัว ไม้ประจำจังหวัด ไม้มงคล และไม้พุทธประวัติ ไม้ดัด และอาคารหอประวัติพืชสวนไทย
     สถานที่ที่จะเปิดให้ชมเพิ่มในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ อาคารพืชไม้เมืองหนาว

    

ดอยอินทนนท์



      ดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อพ.ศ.2515 ประกาศเป็นอุทยานฯ เป็นลำดับที่ 6 ของประเทศไทย มีพื้นที่ 482.4 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ดอยอินทนนท์แต่เดิมดอยนี้มีชื่อว่า "ดอยหลวง" หรือ "ดอยอ่างกา"ดอยหลวง มาจากขนาดของดอยที่ใหญ่มาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "ดอยหลวง" (หลวง: เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ใหญ่)
ดอยอินทนนท์ อดีตกาลก่อนป่าไม้ทางภาคเหนืออยู่ในความควบคุมของเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (องค์สุดท้าย) พระองค์ให้ความสำคัญกับป่าไม้อย่างมาก โดยเฉพาะป่าในบริเวณดอยหลวง ทรงรับสั่งว่า หากสิ้นพระชนม์ลงให้นำอัฐิบางส่วนขึ้นไปสร้างสถูปบรรจุไว้บนดอย ดอยนี้จึงมีนามเรียกขานว่า "ดอยอินทนนท์" แต่มีข้อมูล บางกระแสกล่าวว่า ที่ดอยหลวงเรียกว่า ดอยอินทนนท์ นั้น เป็นเพราะเนื่องจากว่าเป็นการให้เกียรติ เจ้าผู้ครองนคร จึงตั้งชื่อจากคำว่า "ดอยหลวง" ซึ่งเป็นชื่อที่มีความซ้ำกับดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว แต่ภายหลังมีชาวเยอรมัน มาทำการสำรวจและวัด ซึ่งปรากฎผลว่า ดอยหลวง หรือดอยอ่างกา ที่อำเภอแม่แจ่มมีความสูงกว่า ดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน และเรียกดอยแห่งนี้ว่า "ดอยอินทนนท์"

       อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ "ป่าสงวนแห่งชาติดอยอินทนนท์" ต่อมาได้ถูกสำรวจและจัดตั้งเป็นหนึ่งในสิบสี่ ป่าที่ทางรัฐบาลให้ดำเนินการเป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งครั้งแรกกรมป่าไม้เสนอ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ให้มี พื้นที่ 1,000 ตร.กม. หรือประมาณ 625,000 ไร่ แต่เนื่องจากพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ อาศัยอยู่ก่อนหลายชุมชน จึงทำการสำรวจใหม่ และกันพื้นที่ที่ราษฎร อยู่มาก่อน และคาดว่าจะมีปัญหาในอนาคตออก จึงเหลือพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 270 ตร.กม. หรือประมาณ 168,750 ไร่ ประกาศลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 และในวันที่ 13 มิถุนายน 2521 รัฐบาลประกาศพื้นที่เพิ่มอีกเป็น 482.4 ตร.กม. อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ มีความสูงจากระดับน้ำทะลปานกลาง 400-2,565.3341 เมตร เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยสำหรับวัตถุประสงค์ในการกำหนดที่ดินให้ เป็นอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หมวด 1 มาตรา 6

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อุทยานแห่งชาติคลองตรอน




      อุทยานแห่งชาติคลองตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ นอกจากจะเป็นคลองขนาดใหญ่ยังมีลำห้วยต่างๆ เกิดขึ้นยังมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญ และสวยงาม คือน้ำตกห้วยเนียม น้ำตกกกมอนแก้ว ถ้ำจัน ถ้ำเจดีย์ ถ้ำเสือดาว ถ้ำผาตั้ง เขาภูเมี่ยง และหน้าผาที่สวยงามเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป สะดวกสบายในการไปพักผ่อนหย่อนใจ มีเนื้อที่ประมาณ 324,240.80 ไร่ หรือ 518.80 ตารางกิโลเมตร

ความเป็นมา : ตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้นายไพโรจน์ ดาราเพ็ญ เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ไปทำการสำรวจหาข้อมูลบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองตรอนฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ท้องที่อำเภอเมือง และอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ผลการสำรวจตามหนังสือที่ กษ. 0713 (พช) / 36 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2533 ปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าวประกอบไปด้วยป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์และน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกห้วยโปร่ง น้ำตกห้วยคอม และน้ำตกห้วยเนียม พร้อมทั้งยอดภูเขาคว่ำเรือ และภูเขาหงายเรือ และมีคลองที่ชื่อว่า “คลองตรอน” เป็นคลองซึ่งลำห้วยต่างๆ ไหลมารวมกันที่คลองนี้และไหลลงสู่แม่น้ำน่าน อีกทั้งยังเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชน และหน่วยงานใกล้เคียงโดยทั่วไป จึงขออนุมัติตั้งชื่ออุทยานแห่งชาติว่า “คลองตรอน

วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร จ. เชียงใหม่




    วัดเจดีย์หลวง ถนนพระปกเกล้า วัดนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่พอดี ประดิษฐานเจดีย์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าแสนเมืองมากษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.๑๙๑๓-๑๙๕๔) ต่อมาพระยาติโลกราชโปรดให้ช่างขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิม แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๔ และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานระหว่าง พ.ศ.๒๐๑๑-๒๐๙๑ นานถึง ๘๐ ปี ต่อมาในสมัยพระนางจิระประภา ได้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๘ ทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง ปัจจุบันเจดีย์มีความสูงคงเหลือ ๔๐.๘ เมตร ฐานกว้างด้านละ ๖๐ เมตร
   วิหารหลวงของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๑ หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของภาคเหนือ และในวัดเจีดย์หลวงนี้ยังมี เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็ก ๆ เสาอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในวันแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๘ (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมือง